นัก วิชาการด้านภาษาจากจุฬาฯ ให้ความรู้ที่มาของคำว่า เว็จ และความหมายที่แท้จริง ที่ไม่ใช่ ส้วม ชี้เป็นเพียงคำย่อ แต่จริง ๆ แล้วหมายถึงสิ่งนี้
กระแสละคร บุพเพสันนิวาส เรียกได้ว่าฟีเว่อร์หนักมาก เพราะนอกจากจะให้ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะกับผู้ชมแล้ว ก็ยังสอดแทรกความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างมากมาย อย่างเรื่องคำโบราณที่ทำเอาคนดูติดหู จนมาใช้กันจนเป็นคำฮิตไปแล้ว อย่างคำว่า เว็จ และ ออเจ้า
แต่ ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว นักวิชาการด้านภาษาจาก สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาแก้ข้อเข้าใจผิดนี้ใหม่ว่า แท้จริงแล้ว "เว็จ-เวจ" ไม่ได้หมายถึง ส้วม แต่จริง ๆ แล้วหมายถึง "อุจจาระ" ต่างหาก โดยได้ชี้แจงไว้ดังนี้
ช่วงนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง พูดกันถึงเรื่องละครบุพเพสันนิวาส จากบทประพันธ์ของรอมแพง ทำให้คนเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ การแต่งเนื้อแต่งตัว จนถึงคำเก่า ๆ อย่าง ออเจ้า เว็จ ฯลฯ เป็นต้น พอดีผ่านตา เห็นหลายคน ลุกขึ้นมาเขียนว่า เว็จ/เวจ แปลว่า "ส้วม" "สุขา"จริง ๆ แล้ว จะว่าผิดก็ไม่ใช่ แต่จะว่าถูกหมดก็ไม่ได้ เพราะคำว่า "เว็จ" ที่ใช้ ๆ กันจนเข้าใจว่าหมายถึง "ส้วม" นั้น เป็นคำที่ย่นย่อ ตัดสั้นจาก "เว็จกุฎี"
คำว่า กุฎี นั้น มาจากภาษาบาลี สันสกฤตว่า "กุฏิ" แปลว่า กระท่อม หรือ กระต๊อบ หรือ เรือนที่ปรุงขึ้นไว้ใช้สอย อย่าง กุฏิพระภิกษุ เป็นต้น
ส่วน "เว็จ" หรือ "เวจ" นั้น จริง ๆ แปลว่า "ขี้" (ขอโทษที่ไม่สุภาพ) "อุจจาระ" มาจาก ภาษาบาลีว่า "วจฺจ" แล้วแผลง เสียงสระ อะ เป็น เอ ให้ออกเสียงง่าย คำว่า วจฺจ นี้ ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "วรฺจสฺ: (วรร-จัส) ตามรูปศัพท์แปลว่า พลังชีวิต พละกำลัง ประกายรัศมี/ไฟ แสงสว่าง ความเรืองรอง สี และ ในศัพทานุกรม (lexicon) ให้ว่า หมายถึง อุจจาระ มูล ด้วย
เมื่อออเจ้ารู้เยี่ยงนี้แล้ว จงแจ้งใจเถิดว่า เวจ นั้น จะเดิมหาใช่ส้วมไม่ รู้สิ่งไรแลต้องรู้ให้ถึงราก จักได้โวได้ ไม่ถูกแม่การะเกดเบ้ปากใส่ นะออเจ้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Instagram broadcastthaitv, Mello.me