ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา ผู้นำคณะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา

           เผยเรื่องราว โกษาปาน จากละครบุพเพสันนิวาส นักการทูตชื่อดัง เคยเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ช่วยไทยรอดพ้นจากการคุกคามจากต่างชาติ

          ละคร บุพเพสันนิวาส มีตัวละครในประวัติศาสตร์ไทยปรากฏตัวในเรื่องเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน นักการทูตชื่อดัง รับบทโดย เก่ง ชาติชาย งามสรรพ์ และด้วยความที่เป็นบุคคลซึ่งมีความสำคัญกับงานต่างประเทศสูงในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในโอกาสนี้เราจะขอย้อนไปศึกษาประวัติของท่านว่ามีความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา

           เจ้าพระยาโกษาปาน เป็นน้องชายของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับขุนนางเชื้อสายมอญ เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากนี้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ยังเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) และเป็นปู่ของ พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกผู้เป็นพระปฐมวงศ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี
          เหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์คือ ครั้งที่ โกษาปาน เดินทางไปกับเรือฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และเดินทางกลับใน พ.ศ. 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน

ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา

          ทั้งนี้ โกษาปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกที่ได้พบเห็นในการเดินทางครั้งนั้น สำหรับการเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้ ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ได้กระทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้าฯ จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และสร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ และโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึก และมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเป็นที่ระลึกด้วย

          ในปลายสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มีความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ในหมู่ขุนนางไทยและพระสงฆ์ พระเพทราชา เจ้ากรมช้าง (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอยุธยา) ทรงเป็นผู้นำในการต่อต้านครั้งนี้ โกษาปานได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โกษาปานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศส ที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ

ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา

          กระนั้น เมื่อถึงช่วงเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชา แม้ พระยาโกษาปาน จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรกรณี แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี จึงทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วเป็นอันมาก จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ. 2243 ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบหมด และมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ จนมีการกล่าวกันว่า เจ้าพระยาโกษาปานนั้นมีความเกรงกลัวพระราชอาญาเสียจนไม่กล้าที่จะกราบทูลเรื่องสำคัญ ๆ จนในที่สุดถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความโทมนัสที่ถูกพระราชอาญาและต้องโทษโบยอยู่เสมอ

          อย่างไรก็ดี ชื่อของ โกษาปาน ยังคงได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ และจากผลงานการเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา


ภาพและข้อมูลจาก wikipedia, ch3thailand.com, mello.me


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนประวัติ โกษาปาน นักการทูตแห่งอยุธยา ผู้นำคณะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2561 เวลา 07:53:28 58,869 อ่าน
TOP
x close