x close

เกร็ดความรู้ พระเจ้าท้ายสระ โปรดเสวยปลาตะเพียน จนสั่งห้ามราษฎรจับ จริงหรือ ?

             เพจดังเผยเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ จากละคร พรหมลิขิต เรื่องของ พระเจ้าท้ายสระ โปรดเสวยปลาตะเพียน จนรับสั่งห้ามราษฎรจับ นักวิชาการวิเคราะห์ น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้...

             เป็นละครสุดฮิตที่กำลังมาแรงสุด ๆ สำหรับ พรหมลิขิต ทางช่อง 3 ซึ่งในเรื่องมีการอ้างอิงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และมีตัวละครซึ่งมาจากบุคคลในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาอยู่ด้วย ทำให้ผู้ชมที่ติดตามละครเรื่องนี้ หลายคนอยากรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งก็มีหลายเพจ ที่ออกมาให้ข้อมูลอยู่เป็นระยะ

            เช่นเดียวกับทางเพจ โบราณนานมา ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ "พระเจ้าท้ายสระ โปรดเสวยปลาตะเพียน จนรับสั่งห้ามราษฎรจับ" หลังจากที่ละคร พรหมลิขิต ได้ดำเนินเรื่องมาถึงรัชสมัย "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ" และมีฉากที่ “พระเจ้าท้ายสระ” (รับบทโดย เกรท วรินทร) ทรงตกปลาตะเพียนที่ท้ายสระ แล้วสั่งห้องเครื่องทำถวายอยู่ด้วย

            โดยทางเพจ โบราณนานมา เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดปลาตะเพียนเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของพระราชกำหนดกฎหมายห้ามผู้หนึ่งผู้ใดกินปลาตะเพียน หากฝ่าฝืนลงโทษปรับสินไหม ปรากฏในบันทึกหลายแห่ง เช่น พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา

            ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอนว่า "...ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง..."

            นักวิชาการบางคน ระบุว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องไม่จริง เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โปรดเสด็จฯ ไปประทับที่พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ซึ่งอยู่ในสระน้ำท้ายวังเป็นประจำ เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ และชื่นชมกับปลาแปลก ๆ และสวยงาม เช่น ปลาหน้าคน ปลาตะเพียนทอง ฯลฯ

            การที่พระองค์ทรงออกพระราชกำหนดห้ามจับปลาตะเพียนทอง คาดว่าทรงมีพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ปลาสวยงามนี้ไว้ และทุกวันนี้ยังคงมีคนเลี้ยงปลาตะเพียนทองเป็นปลาสวยงามอยู่ในตู้ปลาอยู่เลย คนสมัยโบราณอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์จึงคิดว่าท่านทรงหวงจะเสวยไว้เอง ซึ่งเมื่อพูดต่อ ๆ กันไปก็กลายเป็นเรื่องที่ดูสนุก น่าสนใจกว่าการที่จะบอกว่าห้ามจับเพราะอยากอนุรักษ์นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก โบราณนานมา

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้ พระเจ้าท้ายสระ โปรดเสวยปลาตะเพียน จนสั่งห้ามราษฎรจับ จริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11:59:35 34,269 อ่าน
TOP