บุพเพสันนิวาส ฟีเว่อร์หนัก ทำคำโบราณกลับมาฮิต ออเจ้า-เว็จ ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนความหมายเป็นอย่างไร ออเจ้าต้องตามไปดูกัน
กระแสละคร บุพเพสันนิวาส เรียกได้ว่าฟีเว่อร์หนักมาก แม้จะเพิ่งออกอากาศไปเพียง 2 ตอน ก็ทำเอาผู้ชมติดกันงอมแงม อยากให้ถึงคืนวันพุธ-พฤหัสบดี โดยเร็ว ซึ่งละครเรื่องนี้ นอกจากจะให้ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะกับผู้ชมแล้ว ก็ยังสอดแทรกความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างมากมาย ทั้งเรื่องคำในอดีต และวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น
ทั้งนี้คำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในละคร อย่างคำว่า ออเจ้า และ เว็จ ได้กลายมาเป็นคำฮิตในปัจจุบัน ที่แฟน ๆ ละคร มักจะเอามาใช้กันอย่างแพร่หลายไปเรียบร้อยแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความหมายและที่มาของทั้ง 2 คำนี้ เราเลยขอนำข้อมูลมาฝากกันค่ะ
โดยทางค่ายบรอดคาซท์ ผู้จัดละครเรื่องนี้ ได้มีการจัดทำคลิปช่วง บุพเพสันนิวาส "วันละคำ" ออกมาอธิบายความหมายของคำฮิตในเรื่อง อย่างคำว่า "ออเจ้า" แปลว่า เธอ เป็นสรรพนามแทนบุคคลที่ 2 ใช้แทนคนที่เราพูดด้วย เช่น เธอ คุณ มักใช้กับคนที่อาวุโสน้อยกว่า หรือเท่ากัน
ส่วนคำว่า "เว็จ" สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นคำเรียก "ห้องน้ำ" ไม่ใช่ Wait (เวท) ที่แปลว่าคอยนะคะ ถ้าจะไปห้องน้ำ ให้พูดว่า "ไปเว็จ"
ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า \'เวจ\' ไว้ว่า [เว็ด, เว็ดจะ-] น. ที่ถ่ายอุจจาระ. (ป. วจฺจ) ลูกคำของ "เวจ, เวจ-" คือ เวจกุฎี เวจมรรค ซึ่งเวจกุฎี มีความหมายว่า ที่ถ่ายอุจจาระ, ส้วม เช่นกัน ขณะที่ เวจมรรค แปลว่า ทวารหนัก บางทีก็เรียก วัจมรรค
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะทำให้เข้าใจความหมายของคำศัพท์ในเรื่อง บุพเพสันนิวาส กันมากขึ้นหรือเปล่า.. ส่วนตอนหน้าจะมีคำเด็ด ๆ อะไรออกมาอีกหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไปนะคะ