x close

วิเคราะห์ที่มาอันเจ็บปวด เหตุคนไทยมองคนลาวแปลกแยก ผ่านการแต่งกายของ การะเกด

บุพเพสันนิวาส

         เปิดที่มา ความจริงจากประวัติศาสตร์ ที่มาที่คนไทย คนสยาม มองว่าคนลาวแปลกแยกจากพวกตน พบมีมาตั้งแต่หลายร้อยปี อันสะท้อนจากการแต่งกายของ การะเกด ในบุพเพสันนิวาส ที่เมื่อเข้าเมืองมา ก็แต่งกายแปลกแยกจากคนพระนครทันที

         แม้ว่าละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส จะเป็นละครน่ารักที่เป็นที่ติดตามของคนทั่วประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ละครเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งละครที่มีการอ้างอิงจากประวัติศาตร์ ที่บางส่วนได้สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บปวด ที่ลามมายังปัจจุบันที่ว่า คนไทยยังใช้คำว่า "ลาว" ในเชิงลบ เพื่อดูถูกคนที่ด้อยกว่า โดยหากจะย้อนกลับไปจะพบว่า คำว่าลาวถูกใช้ในเชิงนี้ตั้งแต่อดีตนานมาเป็นร้อยปีแล้ว

บุพเพสันนิวาส
         ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ พันทิปดอทคอม ได้มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยที่คุณ กามนิตยอดชายไปค้าขายที่โกสัมพี  ได้พูดถึงกรณีที่ เมื่อในช่วงแรก ๆ ของละคร และแม่การะเกด ได้มาอยู่ที่บ้านของขุนหมื่น และแต่งกายแบบล้านนาเข้าบ้าน (ตามหนังสือนั้น คุณย่าของการะเกดเป็นคนล้านนา) ด้วยการนุ่งซิ่นตีนจก ส่วนบ่าวไพร่เองก็ใส่เคียนหัวแบบชาวเหนือ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในภาคกลาง และการแต่งตัวแบบนี้ของการะเกด  ก็ทำให้หลายคนมองว่าประหลาด ลามไปจนถึงการพูดเรื่องชาติกำเนิดว่า เธอเองเป็นคนจากเมืองสองแคว ไม่ใช่คนเมืองพระนครเหมือนคนอื่น ๆ 

https://www.youtube.com/embed/UQmIVDLTFWU?feature=oembed

         ด้านคุณ ศรีสรรเพชญ์ ได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในอดีตนั้น รัฐสุโขทัย อันได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก กำแพงเพชร พิชัย พิจิตร นครสวรรค์ ถือเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยา มีดินแดนใกล้ชิดกับล้านนา ที่คนอยุธยามองว่าเป็น "ลาว" แต่คนในหัวเมืองนั้น มักจะมองว่าตนเองเป็นคน "ไทย/ไท" มากกว่า เนื่องจากเมืองพิษณุโลก หรือเมืองสองแควนั้น ทางอยุธยาจะมีการส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครอง จึงเกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อกัน

บุพเพสันนิวาส

         ทั้งนี้ หลักฐานการใช้คำว่า ลาว ในเชิงความหมายลบ มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ทรงได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นบาทบริจาริกา (สามัญชนที่ถวายตัวเป็นภรรยาให้กษัตริย์) ทว่าสมเด็จพระนารายณ์กลับอับอายไม่พาเข้าวัง จึงส่งมอบ "นางลาว" คนนั้นให้พระเพทราชา

บุพเพสันนิวาส

         "เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึ่งพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่า นางลาวคนนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเกิด"

บุพเพสันนิวาส

         นอกจากนี้ ในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงแต่งเนื้อหาที่สะท้อนว่า คนอยุธยามองคนลาวต่ำกว่า หรือจากกรณีของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงแรกที่พระองค์เสด็จเข้าวังหลวงนั้น พระองค์ถูกมองว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" ด้วยการที่พระองค์ทรงให้ข้าหลวงในตำหนัก แต่งกายด้วยผ้าซิ่นล้านนาเหมือนครั้งที่ประทับอยู่ที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ ซึ่งพระองค์ก็มิได้สนพระทัยแต่ประการใด

บุพเพสันนิวาส

         "นอกจากนี้ คนไทยสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาก็มองล้านนาว่าเป็น ลาว ที่มีความแตกต่างกับตนมาก มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็ยังปรากฏเรียกขานเช่นนั้นอยู่ และหลายครั้งคนล้านนาก็ถูกคนไทยสยามมองอย่างดูถูกอยู่บ้าง เพราะแปลกแยก เห็นได้จากกรณีของเจ้าดารารัศมีในสมัยรัชกาลที่ ๕

บุพเพสันนิวาส

         ดังนั้น การที่ลูกสาวข้าราชการอยุธยาอย่างเจ้าเมืองพิษณุโลกจะแต่งตัวเป็น ลาว ก็ดูจะแปลกประหลาดพอสมควร ยิ่งเมื่อย้ายมาอยู่ที่อยุธยาโดยแต่งกายสภาพนั้นแล้ว ก็อาจจะถูกคนอยุธยามองอย่างเหยียด ๆ ว่าเป็นพวก ลาว ที่แปลกแยกจากคนอยุธยาทั่วไปด้วยครับ

บุพเพสันนิวาส

         ดังนั้นถ้าการะเกดแต่งกายเป็น ลาว เดินทางเข้ามาอยุทยาโดยมีขบวน ลาว อย่างใหญ่โตนั้น อาจตีความได้ว่านางเป็นคนมั่นจนไม่แคร์สายตาใครครับ"

บุพเพสันนิวาส

         แม้ว่าประวัติศาสตร์ จะจารึกความเจ็บปวดที่คนไทย ไม่มองคนลาวว่าเท่าเทียมเสมอกัน หากแต่ในวันนี้ที่โลกได้เปลี่ยนไป สิทธิมนุษยชนเข้มแข็งมากขึ้น การดูถูก เหยียดหยาม เหยียดเชื้อชาติ ด้วยคำพูดว่า "ลาว" นั้น จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเราต้องไม่ใช่คำนี้ในการดูถูกคนอื่นอีกต่อไป

บุพเพสันนิวาส

บุพเพสันนิวาส

ภาพจาก Instagram ch3thailand, Instagram broadcastthaitv, พันทิปดอทคอม
ข้อมูลจาก พันทิปดอทคอม
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์ที่มาอันเจ็บปวด เหตุคนไทยมองคนลาวแปลกแยก ผ่านการแต่งกายของ การะเกด อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2561 เวลา 17:42:10 88,866 อ่าน
TOP