กระแสมาแรงสุด ๆ ตั้งแต่ตอนแรกตามคาด สำหรับละคร พรหมลิขิต ภาคต่อของละครสุดฮิตอย่าง บุพเพสันนิวาส เรื่องราวของ การะเกด - คุณพี่หมื่น หลังจากจบภาคแรก และมีลูกด้วยกัน ก่อนจะมาถึงเรื่องราวความรักของพระ-นางรุ่นลูก โดยได้มีการสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้นมาด้วย จนเป็นที่พูดถึงอย่างมาก
โดยหนึ่งในตัวละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่อ้างอิงมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อย่าง "แม่มะลิ" หรือ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ที่รับบทโดย ซูซี่ สุษิรา ก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะในเรื่องนั้น เจ้าตัวต้องตกอับอย่างมาก "พระยาวิไชเยนทร์" ถูกตัดสินโทษประหาร ทั้งโดนริบทรัพย์ สิ้นเนื้อประดาตัว และยังถูกจับไปขังในโรงม้า
ช่วงเวลาเคราะห์หนักของ “แม่มะลิ”
- หลังจากที่ปฏิเสธข้อเสนอของ หลวงสรศักดิ์ แม่มะลิ ก็ต้องเจอกับความทุกข์ยากลำบากมากมาย นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา
- นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอก ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่สุดท้ายก็บิดพลิ้วต่อนาง เพราะมองว่าหากพาเธอออกไปแล้ว ชาวคริสตังที่เหลือก็จะถูกชาวสยามข่มเหง และถูกลงโทษประหาร และยังจะทำลายคลังสินค้า ทำให้กิจการค้าเสียหายอย่างใหญ่หลวง
. - แม่มะลิ ถูกกักขังในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด โดยทาง บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "...เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม..." หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง
เรื่องราวที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง กับมรสุมหนักในชีวิต
- ต่อมาเรื่องราวของ "แม่มะลิ" กลับมาปรากฏอีกครั้งว่านางได้กลับมายังกรุงศรีอยุธยา โดยมีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า "...มาดามกงสต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า..."
- หมอเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า "...เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่...”
.
- เรื่องราวของมาดามฟอลคอน หรือมารีอา กียูมาร์ ปรากฏในประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2259 ขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง
ปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้น สู่การเป็น “ท้าวทองกีบม้า” ผู้สร้างตำนานขนมไทย
- ในจดหมายดังกล่าว มีข้อความที่นางบรรยายว่า "...คงแอบพักนอนที่มุมห้องพระเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังเฝ้ารักษาเฝ้าห้องเครื่องต้น..." ทำให้ทราบว่านางได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวังแล้ว
- จดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ มีการบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า "...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา..."
ชีวิตดีขึ้น หลังสิ้นรัชกาล “พระเจ้าเสือ”
- ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ให้ข้อมูลว่า หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ (หลวงสรศักดิ์) ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน
- ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า
"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ...”
- ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง