x close

จุดจบ เจ้าพระองค์ดำ ในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร เหมือนในละคร พรหมลิขิต หรือไม่ ?

          เพจดังเปิดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เรื่อง เจ้าพระองค์ดำ ว่าวาระสุดท้ายลงเอยอย่างไร หลังถูกกล่าวถึงในละคร พรหมลิขิต ชี้ในพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ บอกไม่เหมือนกัน
 

          เป็นอีกหนึ่งตอนที่มีการพูดถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สำหรับละคร พรหมลิขิต ตอนที่ 8 ซึ่งมีการพูดถึง "เจ้าพระองค์ดำ" (เอ พศิน) เสด็จอาของขุนหลวงท้ายสระ ว่าลงเอยอย่างไร หลังคิดการใหญ่ ซึ่งทางคุณหญิงการะเกด (เบลล่า ราณี) ได้ถามสามีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ตนเองรู้มาก็ไม่ได้เป็นจริงซะทั้งหมด
 

อ่านข่าว : ประวัติ พระเจ้าองค์ดำ กับบทบาทสำคัญช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
 

          ล่าสุด (6 พฤศจิกายน 2566) ทางเพจ Thai Culture & Thai Travel ได้โพสต์เกี่ยวกับพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ ที่กล่าวถึงพระองค์เจ้าดำ "เรียนรู้บุคคลในประวัติศาสตร์ไทยที่มีอยู่จริงผ่านละครพรหมลิขิต" โดยมีข้อมูลดังนี้

 

          - พระองค์เจ้าดำ (เจ้าพระองค์ดำ) เป็นโอรสของ "พระเพทราชา" และมีบาทบริจา คือ "พระองค์เจ้าแก้ว" และธิดาของพระองค์เจ้าดำเป็นชายาของเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เป็นอนุชาของพระเจ้าเสือ และเป็นพระปิตุลา (อา) ของพระเจ้าท้ายสระ แต่สุดท้ายพระองค์ถูกสำเร็จโทษ ซึ่งการสำเร็จโทษของพระเจ้าองค์ดำ ปรากฏในพงศาวดาร 2 ฉบับ แต่มีข้อแตกต่างกันดังนี้
 

          - (๑.) พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุว่า พระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ใหม่ ด้วยเหตุคิดกบฏ ตามปรากฏในบันทึกดังนี้
 

          "…(๒๙) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ…ให้จับกรมขุนเสนาบริรักษ์ว่าคบคิดกันกับอำมาตย์หลอ พระรักษ์มนเทียร จ้าวพระองค์แขก จ้าวพระองค์ดำ ว่าซ่องสุมผู้คนคิดขบฏ มิได้ถวายเครื่องสาสตราวุธ ให้ไปประหารชีวิตเสียสิ้น…"
 

          - (๒.) พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (วัดพระเชตุพน) บันทึกไว้ว่า พระองค์เจ้าดำ ถูกพระเจ้าท้ายสระสั่งสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เหตุเพราะทรงประพฤติตนโดยไม่เกรงกลัวพระราชอาชญา ตามที่ปรากฎในบันทึกดังนี้
 

          "…ขณะนั้นพระองค์จ้าวดำกอประด้วยทิฐิมานะ กระทำการหยาบช้า กระด้างกระเดื่อง ลลาบลล้าวเข้าไปในพระราชถานตำแหน่งที่ห้ามเปนหลายครั้ง มิได้เกรงกลัวพระราชอาชญา จึ่งสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระดำหรัสปฤกษาด้วยสมเดจ์พระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ตรัสเหนว่าโทษพระองค์จ้าวดำนั้นผิดเปนมหันตโทษ จึ่งให้จับพระองค์จ้าวดำพันทนาไว้ แล้วให้เอาไปสำเหรจ์โทษเสียด้วยท่อนจันทณ์ เอาพระศภไปฝังเสีย ณะ วัดโคกพญา แลพระองค์จ้าวแก้วซึ่งเปนบริจาพระองค์จ้าวดำนั้นเปนม่ายอยู่ จึ่งเสดจ์ไปทรงผนวดเปนพระรูปอยู่ ณะ พระตำหนักวัดดุษิตกับด้วยสมเดจ์พระไอยกีกรมพระเทพามาศนั้น…"

 

          โดยหลังจากพระองค์เจ้าดำถูกประหาร พระองค์เจ้าแก้วผู้เป็นบาทบริจาในพระองค์เจ้าดำจึงเสด็จไปผนวชเป็นพระรูปชี และประทับที่พระตำหนักวัดดุสิต สถานที่ประทับเดียวกับกรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ (หรือคำสามัญ คือ ย่าของพระเจ้าท้ายสระ)
 

          ทั้งนี้ในละคร พรหมลิขิต ได้มีฉากที่ ขุนหลวงท้ายสระ ทรงปรึกษาเรื่องนี้กับ "เจ้าฟ้าพร" ซึ่งได้แนะนำให้สำเร็จโทษ "เจ้าพระองค์ดำ" ด้วยเหตุว่าก้าวล่วงเขตหวงห้าม ทำตนกระด้างกระเดื่อง น่าจะดีกว่าข้อหากบฏ เนื่องจากเป็นพระญาติ หากประกาศว่าถูกประหารด้วยข้อหานี้ จะเป็นที่ด่างพร้อย อาจกระทบต่อความมั่นคงของราชบัลลังก์นั่นเอง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก Thai Culture & Thai Travel
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุดจบ เจ้าพระองค์ดำ ในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร เหมือนในละคร พรหมลิขิต หรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18:49:09 44,402 อ่าน
TOP