เปิดเรื่องราวฉบับย่อของวิกผม ที่อัศวินแห่งโชมองต์ ใส่ในการถวายพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทว่ากลับถูกคนไทยเอามาล้อเลียนว่าเหมือนเส้นมาม่า แท้จริงมีที่มา
ในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ฉากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ในฉากที่คณะทูตจากฝรั่งเศส ในฐานะตัวแทนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายพระราชสาสน์ ซึ่ง อาแล็กซ็องดร์ เดอ โชมองต์ (Alexandre de Chaumont) ขุนนางชั้นอัศวิน Chevalier เอกอัคราชทูตวิสามัญ (Ambassadeur Extraordinaire) ผู้มีอำนาจเต็มแทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้สวมเครื่องแบบของขุนนางฝรั่งเศสเต็มยศ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับพระมหากษัตริย์ของไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่อาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายแล้ว ความนิยมในการใส่วิกก็ลดลงตามนับพันปี ทว่าในศตวรรษที่ 16 ความนิยมในการใส่วิกกลับมาอีกครั้ง เพื่อทดแทนอาการหัวล้านและส่งเสริมบุคลิกภาพ อีกทั้งหลายคนยังโกนผมอันเนื่องมาจากเหาที่ระบาด และใส่วิกแทน
อย่างไรก็ตาม วิกได้รับความนิยมอย่างมากอันเนื่องมาจากการสนับสนุนของกษัตริย์ พระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ นิยมสวมใส่วิกผมสีแดง ส่วนในฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 เริ่มเป็นคนที่หันมาใส่วิกและเริ่มแฟชั่นการใส่วิก เนื่องมาจากพระองค์หัวล้านก่อนวัย และแฟชั่นการใส่วิกก็เริ่มแพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างหนักในช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราช และแฟชั่นนี้ ก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป และผู้ชายที่มีฐานะ จึงต้องใส่วิกทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 18 ผู้ชายมักจะนิยมสวมวิกสีขาวหรือสีขาวหม่นโดยการใช้แป้งและมีกลิ่นดอกส้มหรือดอกลาเวนเดอร์โรย การสวมใส่วิกถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการออกงาน และคนก็นิยมสวมวิกมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมา ได้มีการคิดค้นวิกสีขาวหรือสีขาวหม่นแบบที่ไม่ต้องใช้แป้ง และกลายมาเป็นวิกที่สวมใส่ในศาลจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 18 ในราชสำนักฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงมักนิยมใส่วิกที่สูง สวย และประดับประดาด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ มากมาย อันสื่อให้เห็นถึงแฟชั่นและฐานะอันสูงส่ง แต่สุดท้ายแล้ว การใส่วิกเพื่ออวดฐานะก็ต้องสูญสลายไปภายหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789