ขุนพิเรนทรเทพ คือใคร ? เขาคือผู้มีบทบาทสำคัญมากในการล้มอำนาจกลุ่มของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และขุนวรวงศาธิราช ทำให้พระเทียรราชาได้ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแทน
ขุนพิเรนทรเทพ ในละคร แม่หยัว ที่เนื้อเรื่องหลักจะเป็นการบอกเล่าถึง ท้าวศรีสุดาจันทร์ สตรีผู้ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่ทำบัลลังก์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาสั่นคลอน และการเชือดเฉือน ชิงไหวชิงพริบ ชิงบัลลังก์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือผู้ใดในแผ่นดิน นอกจากบทบาทหลักอย่าง ท้าวศรีสุดาจันทร์ ที่ได้ ใหม่ ดาวิกา มารับบทเด่น ยังมี พระไชยราชาธิราช กษัตริย์นักรบ ที่รับบทโดย ตุ้ย ธีรภัทร์ และ ฟิล์ม ธนภัทร ที่รับบทเป็น วามน หรือ ขุนวรวงศาธิราช รวมถึงอีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่างมากในแง่มุมประวัติศาสตร์ นั่นคือ ขุนพิเรนทรเทพ ที่รับบทโดย พ้อยท์ ชลวิทย์ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ขุนพิเรนทรเทพ นักรบผู้หาญกล้า พร้อมปกปักรักษาราชบัลลังก์อโยธยากันค่ะ
ประวัติ ขุนพิเรนทรเทพ ใน แม่หยัว
ขุนพิเรนทรเทพ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 พระราชบิดาของพระนเรศวร เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 17 แห่งอาณาจักรอยุธยา และปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2112-2133
ขุนพิเรนทรเทพ ประวัติก่อนครองราชย์
ขุนพิเรนทรเทพ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช ต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพิเรนทรเทพ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา
เมื่อขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์สมคบกันสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรสของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แล้ว ขุนพิเรนทรเทพได้ร่วมกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศ ปรึกษากันว่าแผ่นดินเป็นทุรยศ ควรจับขุนวรวงศาธิราชไปประหารชีวิตเสีย แล้วให้พระเทียรราชาซึ่งทรงพระผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเทียรราชา กราบทูลแผนการให้ทรงทราบ ก็ทรงเห็นด้วย ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ เห็นว่าควรเสี่ยงเทียนว่าพระเทียรราชามีพระบารมีมากกว่าขุนวรวงศาธิราชหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบ แต่พระเทียรราชาทรงเห็นด้วย ค่ำวันนั้นทั้งหมดจึงไปยังพระอุโบสถวัดป่าแก้วเพื่อทำพิธีเสี่ยงทาย
เมื่อจุดเทียนแล้วปรากฏว่าเทียนของขุนวรวงศาธิราชยาวกว่า ขุนพิเรนทรเทพจึงโกรธว่าห้ามแล้วยังขืนทำอีก แล้วคายชานหมากทิ้ง บังเอิญไปถูกเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง ทั้ง 5 คนจึงยินดีอย่างยิ่ง ขณะนั้นมีพระภิกษุลึกลับเข้ามาในอุโบสถ ให้พรว่าที่ปรารถนานั้นจะสำเร็จแน่ เมื่อออกจากอุโบสถก็หายตัวไป
ต่อมา กรมการเมืองลพบุรี แจ้งราชสำนักว่า พบช้างมงคล (ช้างเผือก) ในเช้าตรู่วันต่อมา ขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระราชโอรส และพระศรีศิลป์ จึงทรงเสด็จทางชลมารคพระราชดำเนินไปทางคลองสระบัว เพื่อไปทรงคล้องช้างเผือก ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้จัดกองเรือออกสกัด เข้าจับขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และพระราชโอรส ฆ่าเสียทั้งหมด แล้วเอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง เว้นชีวิตไว้แต่พระศรีศิลป์ แล้วเข้ายึดพระราชวัง ส่งเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปรับพระเทียรราชาซึ่งลาสิกขาแล้วมาราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ครองกรุงศรีอยุธยาแทน
ขุนพิเรนทรเทพ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ครองเมืองพิษณุโลก
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงตั้ง ขุนพิเรนทรเทพ เป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช รั้งตำแหน่งเจ้าราชธานีฝ่ายเหนือ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในหัวเมืองเหนือทั้งหมด และพระราชทานให้ พระวิสุทธิกษัตรีย์ (พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระศรีสุริโยทัย) เป็นพระอัครมเหสี ต่อมามีพระราชโอรสและพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ พระสุพรรณเทวี หรือพระสุพรรณกัลยา, พระองค์ดำ หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระองค์ขาว หรือสมเด็จพระเอกาทศรถ
ขุนพิเรนทรเทพ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
อ่อนน้อมต่อหงสาวดี และได้ขึ้นครองราชย์
ถึงปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นว่าครั้งนี้ทัพหงสาวดีมากจนเหลือกำลังจะต้านทานได้ อีกทั้งในเมืองยังขาดเสบียงและเกิดโรคระบาด ทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเปิดทางให้พระเจ้าบุเรงนอง ด้วยเกรงว่าหากขืนสู้รบต่อไปด้วยกำลังคนที่น้อยกว่า อาจทำให้เมืองเมืองพิษณุโลกถูกทำลายลงเหมือนกับหัวเมืองเหนืออื่น ๆ ก็เป็นได้ จึงทรงยอมแพ้
พระเจ้าบุเรงนองจึงถอดสมเด็จพระมหินทราธิราชจากราชสมบัติ และแต่งตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็น พระศรีสรรเพชญ์ ครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของหงสาวดี กับขอสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันอยู่ที่หงสาวดี
ในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย โดยพระเจ้าบุเรงนองให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อเดือน 9 พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งวันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 ได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราช มีราชทินนามว่า สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 17 แห่งอาณาจักรอยุธยา และปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของพม่าอยู่ถึง 15 ปี จนถึง พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวร องค์รัชทายาท ก็ทรงประกาศอิสรภาพในห้วงระยะเวลา 10 ปีแรกในรัชสมัยของพระองค์ เขมรได้ส่งกำลังมาโจมตีหัวเมืองทางตะวันออกและรุกเข้ามาถึงชานพระนคร แต่ฝ่ายไทยสามารถต่อสู้ขับไล่เขมรกลับไปได้ พระองค์ทรงเห็นเป็นโอกาสในการป้องกันพระนคร จึงได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงและป้อมต่าง ๆ รอบพระนครให้แข็งแรงขึ้น
กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2123 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคูพระนครทางด้านทิศตะวันออก หรือคูขื่อหน้า ซึ่งแต่เดิมแคบ ข้าศึกสามารถเข้ามาสู่พระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก แล้วสร้างให้ไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ทรงสร้างป้อมมหาชัยตรงบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกัน และสร้างพระราชวังจันทรเกษม (วังหน้า) สำหรับใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ไว้คอยสกัดกั้นทัพข้าศึกที่เข้าโจมตีพระนครทางด้านทิศตะวันออก
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
เสด็จสวรรคต
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรและเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2133 สิริพระชนมพรรษา 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 21 ปี
ขุนพิเรนทรเทพ ในละคร แม่หยัว
สำหรับบท ขุนพิเรนทรเทพ ในละคร แม่หยัว ได้ พ้อยท์ ชลวิทย์ มีทองคำ นักแสดงหนุ่มหล่อ สูง มากความสามารถ ที่เก่งเรื่องการบู๊และการแสดงมารับบทนี้ โดยในเรื่องเขารับบทเป็นนักรบผู้หาญกล้า พร้อมปกปักรักษาราชบัลลังก์ และเป็นขุนนางที่เรียกได้ว่าเป็นมือขวาของพระไชยราชาธิราช มีทั้งความฉลาดและความสามารถในการสู้รบ จนได้ออกไปทำการรบกับพระไชยราชาธิราชอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ดูเหมือนจะมีเรื่องราวบางอย่างที่ยังเก็บซ่อนเอาไว้มากมาย
นอกจากนี้ยังมี ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ รับบทเป็น จินดา หรือ ท้าวศรีสุดาจันทร์, ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ ในบท ขุนวรวงศาธิราช, ตุ้ย ธีรภัทร์ สัจจกุล ในบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ร่วมด้วย เฟิร์น นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล, บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ และเป้ย ปานวาด เหมมณี ร่วมแสดงในละคร แม่หยัว ซึ่งเป็นการตีความเนื้อหาใหม่ในมุมมองของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชาธิราช ว่าก็มีอีกมุมที่คนอื่นไม่เคยรู้
สำหรับใครที่อยากรู้เกี่ยวกับความเข้มข้นของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มหากาพย์แห่งเกมชิงอำนาจ และเรื่องราวความรักอันแสนอื้อฉาวของท้าวศรีสุดาจันทร์ และขุนวรวงศาธิราช สามารถติดตามละครพีเรียดฟอร์มยักษ์ แม่หยัว ได้ทุกวันพุธ - พฤหัสบดี เวลา 20.30 น. ทางช่อง one31
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เรื่องย่อ แม่หยัว เตรียมเปิดเกมชิงอำนาจสุดอื้อฉาว แห่งแผ่นดินอโยธยา
- แม่หยัว ตอนแรก เปิดฉากมหากาพย์แห่งเกมชิงอำนาจ ใหม่ เดินเกม... เตรียมถวายตัว !
- แม่หยัว คือใคร ทำไมถึงเรียก แม่หยัว เปิดประวัติ ท้าวศรีสุดาจันทร์ นางพญาผู้กุมอำนาจแห่งอโยธยา
- ประวัติ ขุนวรวงศาธิราช หรือ พันบุตรศรีเทพ พระสวามี ท้าวศรีสุดาจันทร์ ใน แม่หยัว
- ประวัติ พระไชยราชา หรือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์นักรบแห่งอยุธยา ใน แม่หยัว
- ฮือฮา ! ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ กับท่าถวายตัวในตำนาน ทำถึงจนขนลุก
- ใหม่ ดาวิกา เผยเบื้องหลังฟิตติ้ง แม่หยัว สวยจึ้งทุกลุค ชอตสุดท้ายมีท่าในตำนาน !