x close

ประวัติ พระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ "บ้านพลูหลวง" ผู้มอบความตายให้ฟอลคอน

พระเพทราชา

           ประวัติ สมเด็จพระเพทราชา บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ "บ้านพลูหลวง" ผู้ต่อต้านอารยธรรมตะวันตก

           เรียกได้ว่าละครบุพเพสันนิวาส เป็นละครน้ำดีที่จัดองค์ประกอบของทุกตัวละครได้อย่างลงตัวและเหมาะสม รวมถึงนักแสดงทุก ๆ คนต่างก็มีฝีมือการแสดงที่เฉียบขาด นอกจากนี้ยังมีตัวละครสำคัญออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นตัวละครมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ อีกทั้งการดำเนินเรื่องก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะฉากชะตากรรมของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือ โกษาเหล็ก (รับบทโดย หนู สุรศักดิ์ ชัยอรรถ) บิดาของ แม่หญิงจันทร์วาด (ปราง กัญญ์ณรัณ) ที่ต้องโทษโบยในคดีรับส่วย จนถึงแก่ชีวิต ก็ทำเอาแฟน ๆ ละครบุพเพสันนิวาส สงสารจับใจ (อ่านเพิ่มเติม : เปิดเรื่องราว โกษาเหล็ก บุคคลในประวัติศาสตร์ ผู้มีบทบาทใน บุพเพสันนิวาส)

           เมื่อพูดถึง โกษาเหล็ก แล้วจะไม่พูดถึง "พระเพทราชา" หรือ ออกพระเพทราชา อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจและมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ คงจะไม่ได้ ซึ่งในเรื่อง รับบทโดย "บิ๊ก ศรุต วิจิตรานนท์"

พระเพทราชา

           สำหรับประวัติ สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนชื่อว่า "ทองคำ" เป็นชาวพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2175 (บางแห่งว่า พ.ศ. 2170) จุลศักราช 994 จัตวาศก ปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ (พระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของ โกษาเหล็ก และ โกษาปาน)
           ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชา มีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้างมีความชำนาญในศิลปศาสตร์การบังคับช้าง และมีฝีมือในการสงคราม เคยได้รับความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชา หรือจางวางกรมช้างในขณะนั้น ได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย

พระเพทราชา

           การศึกในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ตีได้เมืองเชียงใหม่ และได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่พระองค์ทรงคิดละอายที่จะรับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ไว้เป็นพระสนม เนื่องจากในเวลานั้นยังถือว่าเมืองเชียงใหม่เป็นพวกเดียวกับเมืองลาว และยังเป็นที่ดูถูกว่าต่ำต้อย จึงทรงยกนางนั้นให้กับจางวางกรมช้าง เมื่อเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก ตำบลโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ในปัจจุบัน ราชธิดาองค์นั้นได้คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชายตั้งชื่อให้ว่า "เดื่อ" ซึ่งก็คือหลวงสรศักดิ์ (ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร (ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ต่อจาก สมเด็จพระเพทราชา นั่นเอง

           จากการศึกษาประวัติศาสตร์จากพงศาวดารต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ มีฝรั่งต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หนึ่งในชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีก็คือชาวกรีก ผู้ภักดีต่อฝรั่งเศสที่ชื่อ "เจ้าพระยาวิชาเยนทร์" (ฟอลคอน หรือ เยการี) สามีของ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกผสมญี่ปุ่น-โปรตุเกส ต้นตำรับขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหม้อแกงของไทย สมเด็จพระนารายณ์ ทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสามารถ และได้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก

           แต่การกระทำหลายอย่างของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีกลาโหม (สมเด็จพระเพทราชาได้รับตำแหน่งนี้ต่อจากโกษาเหล็ก) และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณร ให้ลาสิกขาออกมารับราชการ โดยไม่สมัครใจ เป็นต้น ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์ รู้สึกโกรธเคืองในตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยิ่งนัก

พระเพทราชา

           อีกทั้งมีความระแวงว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จะนำทหารฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระประชวรอย่างหนัก เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์ จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ และได้ประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รวมทั้งผู้อยู่ในข่ายที่จะได้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย (พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์) และพระปีย์ (พระโอรสบุญธรรม) เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบ อาการประชวรก็หนักขึ้นและสวรรคตในเวลาต่อมา

           เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เสนาบดีกลาโหม จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระเพทราชา ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ไม่นับรัชกาลขุนวรวงษาธิราช) ส่วนหลวงสรศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร
           สมเด็จพระเพทราชา ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2231 จุลศักราช 1050 ขณะพระชนมพรรษา 56 พรรษา (บางแห่งว่า 61) ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว" เมื่อขึ้นครองราชย์พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกรมหลวงโยธาทิพ พระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ "เจ้าพระขวัญ" และแต่งตั้งกรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ "ตรัสน้อย"

พระเพทราชา

           ในรัชสมัยของ สมเด็จพระเพทราชา ได้เกิดกบฏขึ้นหลายครั้ง อีกทั้งเกิดปัญหาหัวเมืองใหญ่อย่างเมืองนครราชสีมา และเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระเพทราชา เนื่องจากมองว่าพระองค์เป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในเวลานั้นชาวฝรั่งเศส นักสอนศาสนาคริสต์ และชาวต่างชาติบางกลุ่ม ถูกเนรเทศให้กลับประเทศ แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ และได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด

           สำหรับข้าราชการและราษฎรไทยที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงเป็นอันมาก

           นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ และเพิ่มจำนวนกำลังทหาร ให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ วังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย

พระเพทราชา

           ส่วนงานทางด้านต่างประเทศ มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2238 กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพอยุธยาไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน

           สมเด็จพระเพทราชา ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาถึง 15 ปี ก่อนที่จะทรงพระประชวรอย่างหนัก ระหว่างที่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่นั้น ได้เกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติขึ้น ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์คือ "เจ้าพระขวัญ" และ "ตรัสน้อย" พระราชโอรสแท้ ๆ ของพระองค์

           แต่เจ้าพระขวัญถูกกรมพระราชวังบวร (พระเจ้าเสือ) ลอบประหาร ส่วนตรัสน้อยทรงหนีไปบวชพระ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบ ก็ทรงรีบตั้งพระราชนัดดาคือ "เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์" ให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ แต่เมื่อพระเพทราชาสวรรคต (พ.ศ. 2246) เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ ไม่กล้าปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ด้วยเกรงบารมีของกรมพระราชวังบวร และได้ขอให้กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชย์แทน กรมพระราชวังบวรจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8" (พระเจ้าเสือ) ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์องค์ที่ 29 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นอันสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา




ภาพจาก เว็บไซต์ THAI REINCARNATION RESEARCH, broadcastthai.com, Instagram bigibig28, ละครบุพเพสันนิวาส
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ THAI REINCARNATION RESEARCH
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ พระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ "บ้านพลูหลวง" ผู้มอบความตายให้ฟอลคอน อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2561 เวลา 14:09:24 112,900 อ่าน
TOP