x close

เผย 3 บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ที่สิ้นชีพจากการโบยด้วยหวาย นอกจาก โกษาเหล็ก

บุคคลในประวัติศาสตร์ 

         สะเทือนใจฉาก โกษาเหล็ก ถูกโบยด้วยหวายอย่างหนัก จนสิ้นใจในเวลาต่อมา แต่ในประวัติศาสตร์ไทย ยังมีเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ที่ถูกโบยด้วยหวายจนสิ้นใจเช่นกัน

         ในละครเรี่อง บุพเพสันนิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ฉากหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์คือ การเฆี่ยนโกษาเหล็ก หลังจากที่ขุนหลวงนารายณ์ รับทราบเรื่องราวว่าโกษาเหล็ก รับเงินสินบนจากการไม่สร้างป้อมปราการ ซึ่งแม้ว่าโกษาเหล็กเองจะถือเป็นคนสนิท เป็นขุนศึกคู่ใจของขุนหลวงนารายณ์ หากแต่เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจ ขุนหลวงนารายณ์ก็ต้องทำไปตามกฎ

บุคคลในประวัติศาสตร์
        ซึ่งตามประวัติศาสตร์ไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ โกษาเหล็ก ที่เสียชีวิตเพราะถูกโบยด้วยหวายเพียงอย่างเดียว หากแต่ล่าสุด เฟซบุ๊ก จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์ ได้ออกมาเผยว่า มีคนถึง 3 คน ที่ถูกโบยด้วยหวายจนตาย ดังนี้

1. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

        โกษาเหล็กนั้น ถือเป็นขุนศึกคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งในปี พ.ศ. 2226 คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้กราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกแบบฝั่งยุโรป ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ได้เห็นดีเห็นงาม และให้มีการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อร่วมกันสร้างป้อมปราการขึ้น ทว่า ป้อมต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านจึงมอบเงินให้โกษาเหล็ก 15 ชั่ง เพื่อไปกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อให้ยุติการสร้างป้อม

        ทั้งนี้ โกษาเหล็กบอกว่า สยามเองไม่เคยมีป้อมปราการแบบยุโรปมาก่อน คนสยามไม่รู้ว่า หากป้อมถูกล้อมแล้วจะทำอย่างไร และข้าศึกจะยึดเอาป้อมไปโดยง่าย จนทำให้ข้าศึกมีที่มั่นในราชอาณาจักร ซ้ำฟอลคอนเองนั้นยังไม่มีความชำนาญ จึงหวั่นว่าหากสร้างไปแล้ว จะเป็นการเปลืองงบประมาณ

        จากการกราบทูลครั้งนี้ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกริ้วหนัก จึงให้มีการคาดคั้นโกษาเหล็ก และโกษาเหล็กก็ไม่ยอมพูดถึงเรื่องการรับเงิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงรับสั่งว่า

        "...มัดมือโยงทั้งสองข้าง แล้วเฆี่ยนหลังอันเปลือยเปล่าลงมาถึงบั้นเอว ด้วยหวายเส้นเล็ก ๆ พันด้วยเชือกเส้นเล็ก ๆ ที่แข็งมาก จำนวนครั้งที่โบยนั้นเป็นไปตามโทษานุโทษ แต่โดยธรรมดาแล้วการโบยนั้นก็ถลกหนังออกจากหลังนั่นทีเดียว..."

        จากนั้น โกษาเหล็กเองจึงล้มป่วย จนเสียชีวิตในที่สุด

บุคคลในประวัติศาสตร์
เจดีย์บรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์

2. เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง)

        เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นกวีที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นบุตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

        ทว่าในปี พ.ศ. 2298 เจ้าฟ้ากุ้ง ได้สั่งให้จับกุมตัว กรมหมื่นจิตรสุนทร (เจ้ากรม) กรมหมื่นสุนทรเทพ (ปลัดกรม) และกรมหมื่นเสพภักดี (นายเวรปลัดกรม) มาโบยตี จากการที่ตั้งยศสูงเกินกำหนด ทำให้เจ้าทั้งสามกรม ทูลฟ้องว่า เจ้าฟ้ากุ้งทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

        จากนั้น เจ้าฟ้ากุ้งจึงถูกไต่สวนด้วยการโบย นาบพระบาท จนยอมรับสารภาพ ซึ่งโทษคือการทุบด้วยท่อนจันทน์ หากแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงขอไว้ เจ้าฟ้ากุ้งจึงถูกสั่งลงโทษด้วยการนาบหน้าผาก โบย 230 ที แบ่งเป็นยกละ 30 ที แต่เมื่อโบยได้ 180 ที ก็สิ้นพระชนม์

3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์

        เมื่อปี พ.ศ. 2359 มีผู้ฟ้องว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง และพระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า ลักลอบเสพเมถุนจนมีบุตร ต้องอาบัติปฐมปาราชิก รัชกาลที่ 2 จึงทรงให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ทับ) และกรมหมื่นรักษรณเรศ (ไกรสร) ชำระความ และเป็นดังฟ้อง

        ต่อมาได้มีบัตรสนเท่ห์ ที่แต่งเป็นโคลงข้อความหยาบช้ามาไว้ในวังหลวง รัชกาลที่ 2 จึงทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต จนคาดว่าสำนวนแบบนี้ น่าจะเป็นของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ศิษย์เอกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ จึงมีการจับกุมกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ มาไต่สวน หากแต่พระองค์ไม่ยอมรับ เมื่อโบยหนัก ๆ พระองค์จึงยอมรับว่า เป็นผู้เขียนโคลงนี้จริง

        ทว่าสุดท้ายแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ก็ถูกจับไปขัง และสิ้นพระชนม์ขณะถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2359




บุคคลในประวัติศาสตร์

ภาพจาก wikipedia.org, mello.me
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผย 3 บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ที่สิ้นชีพจากการโบยด้วยหวาย นอกจาก โกษาเหล็ก อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2561 เวลา 15:10:58 74,587 อ่าน
TOP