ไขข้อสงสัย คำว่า เมียกลางเมือง ที่พี่หมื่นเรียกการะเกด แท้จริงคืออะไรกันแน่

บุพเพสันนิวาส

           มารู้จักกับเมีย 5 ศักดินาของไทยในสมัยโบราณ และคำพูดของพี่ขุนที่บอกว่า การะเกดคือเมียกลางเมือง แท้จริงแล้วนั้นคืออะไร มีคำตอบให้ที่นี่

           ในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส มีตอนหนึ่งที่ขุนศรีวิสารวาจา หรือพี่หมื่น พูดกับการะเกดว่า "คนเป็นเมียคือสมบัติของผัว ตัวออเจ้าเป็นเมียกลางเมืองของข้า ออเจ้าต้องเชื่อฟังข้า ต้องทำทุกอย่างที่ข้าสั่งให้ออเจ้าทำ ทรัพย์สมบัติของออเจ้า เป็นของข้า ออเจ้าทำความผิดใด ๆ ข้าจะตีโบยออเจ้าเท่าไร ข้าย่อมทำได้" จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า เมียกลางเมืองนั้น คืออะไร

บุพเพสันนิวาส
          ทั้งนี้ นิตยสาร แพรว เวดดิ้ง ได้พูดถึงสาระของกฎหมายตราสามดวงที่ว่าด้วยครอบครัว พระไอยการลักษณะผัวเมีย ที่แบ่งเมียออกเป็น 3 ประเภทคือ

บุพเพสันนิวาส

          1. เมียกลางเมือง หรือ เมียหลวง คือเป็นหญิงที่พ่อแม่ไปสู่ขอมาให้ มีพิธีการแต่งงานอย่างถูกต้อง ได้รับเกียรติสูงสุดในบ้าน และแม้จะมีการพระราชทานหญิงให้สามีในภายหลัง แต่เมียหลวงก็ยังเป็นเมียหลวงต่อไป

          2. เมียกลางนอก หรือ เมียน้อย คือผู้หญิงที่ผู้ชายมาขอไปเป็นอนุภรรยา เลี้ยงดูเป็นเมียอีกคนในบ้าน และมีหน้ามีตาตามสมควร ซึ่งเมียแบบนี้จะมีสักกี่คนก็ได้

          3. เมียกลางทาษี หรือ เมียทาษ เมียแบบนี้ เกิดจากการไปไถ่ตัวมา เพื่อรับใช้คนในบ้าน ไม่ยกเสมอเมียคนอื่น แต่ยังต้องทำงานบ้าน แต่ไม่หนักเท่าทาส

บุพเพสันนิวาส

          ในส่วนของกฎหมายตราสามดวง พระอัยการลักษณะมรดก ยังมีภรรยาอีก 2 ขั้นคือ

          1. ภรรยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้

          2. ภรรยาอันทูลขอพระราชทานให้

          ทั้งนี้ การแบ่งเมียออกเป็นลำดับขั้นนั้น ก็เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดทรัพย์มรดก เมื่อสามีถึงแก่ความตาย กำหนดเบี้ยปรับชายชู้ และกำหนดความรับผิดชอบของสามีทางหนี้สิน

บุพเพสันนิวาส

          อย่างไรก็ตาม การกระทำเหมือนภรรยาเป็นเหมือนสมบัติของสามี และการที่สามีสามารถยกหรือขายภรรยาให้ใครก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับรู้หรือยินยอม ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชปรารภว่า การกระทำแบบนี้ ทำเหมือนภรรยาเป็นเดรัจฉาน หรือเห็นว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าจอมและพนักงานฝ่ายใน กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ กลับมาอยู่บ้านหรือมีสามีใหม่ได้

บุพเพสันนิวาส

          อย่างไรก็ตาม ในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว ไม่มีพระสนมหรือเจ้าจอม และมีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ที่ให้มีการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า การรับรองบุตร และให้มีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว อันเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมผัวเดียวหลายเมียอีกด้วย

ภาพจาก broadcastthaitv, ch3thailand
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก jhain-jen.blogspot, praewwedding, kingprajadhipokstudy



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย คำว่า เมียกลางเมือง ที่พี่หมื่นเรียกการะเกด แท้จริงคืออะไรกันแน่ อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2561 เวลา 07:42:23 76,155 อ่าน
TOP
x close