กุหลาบเหนือเมฆ
นักวิชาการ-ครูยุ่น คอนเฟิร์ม "กุหลาบเหนือเมฆ" อันตรายต่อเด็กจริง (ไทยรัฐ)
นักจิตวิทยาระบุชัดละคร "กุหลาบเหนือเมฆ" อันตรายต่อเด็กสุดๆ ยกเคสสยองจากพิษละครทำเด็กผูกคอตาย มาเทียบ เตือนผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด ด้านมีเดียมอนิเตอร์ และ "ครูยุ่น" ซัดช่องต้นสังกัด-ผู้จัดละคร ตัวการสร้างสังคมน้ำเน่า ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง...
สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านโวยละคร "กุหลาบเหนือเมฆ" ที่มี 2 นางเอกระดับแม่เหล็กของวงการ "อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ" และ "นุ่น-วรนุช วงษ์สวรรค์" แสดงนำ ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 7 สี มีเนื้อหาไม่เหมาะสม กลัวเด็กๆ จะเลียนแบบความรุนแรง เซ็กส์ คำหยาบ และพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวละครนำนั้น
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน นักจิตวิทยา กล่าวถึงกรณีประชาชนเป็นห่วงลูกหลานจะเลียนแบบพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวละครน้ำเน่ากับ ไทยรัฐออนไลน์ โดยยอมรับว่า เนื้อหาที่ไม่ดีของละครเรื่องนี้มีผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กมากมายจริง ๆ
"ดาราหรือศิลปินมีอิทธิพลต่อจิตใจเด็กมาก ๆ ก็เพราะว่า พวกเขาเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ดังนั้นเมื่อดาราแสดงอะไรออกมาเขาก็จะจำเป็นตัวอย่าง อย่างสมัยก่อนอย่างที่บอกไม่ว่าจะเป็นทรงผม เสื้อผ้า หน้า ผม ทุกคนก็เลียนแบบด้วย รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวละครในหนัง ในมิวสิกวิดีโอ เช่น พระเอกชอบสูบบุหรี่ หรือนางเอกดื่มอะไร คนดูที่คลั่งไคล้ก็จะทำตาม ซึ่งทั้งหมดอ้างอิงทฤษฏี มีผลการวิจัยอย่างชัดเจน"
ฉะนั้นในทางจิตวิทยา สื่อ โดยเฉพาะละคร ซึ่งเป็นสื่อที่มีภาพเคลื่อนไหวจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กมากๆ ยิ่งถ้าหากละครเรื่องนั้นๆ โฟกัสมายังกลุ่มของวัยรุ่น ซึ่งยังไม่มีความคงตัวต่อบุคลิกภาพ เมื่อรับอะไรเข้ามาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตัวเอง
"ถามว่านานแค่ไหนจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ระบุไม่ได้ชัดเจน บางคนต้องดูนานๆ แต่บางคนความถี่ในการดูไม่สูง แต่ฉากนั้นๆ มันกระชากอารมณ์มาก เช่น ฉาก "ซัดดัม ฮุสเซน" ถูกแขวนคอ เขาเอาภาพไปเผยแพร่ พบว่าเด็กทั่วโลกเสียชีวิตไปหลายคนในพฤติกรรมเดียวกัน หรือละครไทยก่อนหน้านี้ที่มีฉากที่ผู้หญิงแขวนคอ เด็กๆ ก็ปฏิบัติตาม แม้จะไม่ใช่แฟชั่นก็สามารถเลียนแบบได้ ซึ่งเรื่องนี้อันตรายสุด ๆ"
อย่างไรก็ดี น.พ.ทวีสิน ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วตามตำราทางสุขภาพอารมณ์ของวัยรุ่นจะนิ่งและฟอร์มตัวชัดเจนได้ราว 18-20 ปี ในหลายประเทศ ช่วงอายุก็ไม่แตกต่างกันมาก ดังนั้น สิ่งที่แนะนำได้ก็คือ เมื่อดูละครที่มีเนื้อหาล่อแหลมแบบนี้แล้ว ผู้ปกครองควรจะนั่งดูข้าง ๆ ฟังจากความคิดของเด็กแล้วก็ใส่ความมีวุฒิภาวะของผู้ใหญ่เข้าไป
"เช่น เขาดูพี่อั้ม พี่นุ่น ตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย เด็กเองวุฒิภาวะที่จะจัดการแยกแยะอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ละครทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อสัญชาติญาณของมนุษย์ในความรู้สึกความอยาก ความต้องการ ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นจริง หรืออาจจะเกิดขึ้นจริงแต่ก็ไม่ได้มาก ตรงนี้เองถ้ามีผู้ใหญ่คอยดูแล ติดตามหรือบอกกล่าว ก็จะช่วยป้องกันการเลียนแบบได้ เนื่องจากละครในปัจจุบันมีฉากสมจริงมาก เช่น จูบปากกันตรงๆ แต่ถามต่างประเทศเขาก็มี แต่เขารับผิดชอบ ต่อสังคม ก็อยากให้ผู้จัดละครไทยรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ จะมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นได้มากจริงๆ"
ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ หรือมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงละคร "กุหลาบเหนือเมฆ" โดยเขาพบว่า แม้จะเป็นละครโรแมนติกคอมมาดี้ แต่พล็อตเรื่องทั้งหมดกลับให้น้ำหนักกับการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญมุ่งมั่นความคิดอคติที่ว่า ผู้หญิงต้องแย่งผู้ชาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายสุดๆ ต่อเด็กและสังคม
"คำถามที่คนดูสงสัยเมื่อดูละครเรื่องนี้ก็คือ เพื่อนรัก อั้ม-นุ่น ต้องทำทุกๆ อย่างเพื่อแย่งชิงผู้ชายขนาดนั้นเลยเหรอ ซึ่งเรื่องนี้เด็กๆ ที่ดูคือเขายังใช้ระดับเหตุผลแยกแยะไม่ได้ว่าอันไหนจริง-อันไหนละคร โดยเฉพาะการหาคู่ครองในทีวี คือ ความเป็นจริงในการหาคู่ของคนในสังคมปัจจุบัน โดยพฤติกรรมของการได้มาทุกๆ อย่าง แบบไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม และก็พร้อมกับเกิดกระบวนการเลียนแบบส่งผลต่อไปยังวัยรุ่น"
นายธาม กล่าวว่า อย่างเด็กชอบ "พี่อั้ม" มาก ถามว่าเมื่อ "พี่อั้ม" ใช้มารยาแย่งผู้ชายแล้วชนะ "พี่นุ่น" เขาเห็น เขาก็จะใช้วิธีแบบนั้นเหมือนตัวละครที่เขาชื่นชอบเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาอยากได้มาครอบครอง
ส่วนการจัดเรตติ้งละครของเมืองไทยนั้น ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดีย มอนิเตอร์ เห็นว่า ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย และวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเรตติ้งที่ทางภาครัฐออกแบบมา มีข้อจำกัดในการใช้ ซึ่งต่างประเทศก็ใช้เรตติ้งแบบนี้ แต่ปัญหาของบ้านเราคือความเป็นละครที่ย้ำอยู่กับที่ เน้นสไตล์น้ำเน่าๆ ติดกับวิธีคิดอยู่กับที่ ไม่ไปไหนเลย
"ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัว ท. หรือตัว น.13 แต่อยู่ที่ว่าตอนที่เปิดละครเรื่องนี้เด็กไม่ได้รับการบล็อก การป้องกันไม่ให้ดู หรือว่าได้ดู แต่ไม่ได้รับการแนะนำจากผู้ปกครอง จริงๆ ปัญหาของละครยุคนี้มันมีละครแนวแบบ “กุหลาบเหนือเมฆ” เยอะเกินไป แล้วเวลา 21.30-22.30 น.ที่จัดเรต เด็กๆ ยังไม่หลับ หรือแม้แต่รุ่งขึ้นเขาก็สามารถดูละครเรื่องนี้ย้อนหลังในอินเตอร์เนตได้"
"บ้านเราคือว่าการเข้าถึงสื่อทำกันได้อย่างอิสระเสรี แต่ว่าเราขาดความหลากหลายในการผลิตสื่อที่ควรจะมี อย่างที่เกาหลีเขาสามารถทำให้คนติดกันงอมแงม ต้องไปซื้อซีรีส์ของเขามาแล้วเอามาออนแอร์ ทำไมถึงทำได้ เพราะฉะนั้นผู้จัดหรือว่าเจ้าของผู้ผลิตละครบางคน ยังคงยึดติดว่าการแสดงละครพวกนี้มีกลุ่มคนที่ชอบอยู่ จึงเหมาทึกทักว่าทุกคนชอบ"
นายธาม เสนอแนวทางการแก้ไขว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สัดส่วนละครน้ำดีให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องให้นิยามละครน้ำดีกว้างออกไป ไม่ใช่ให้ฉายได้เฉพาะวันเทศกาล
"จริงๆ ผู้ผลิตละครในปัจจุบันถูกบีบด้วยระบบตลาด คือ ตัวเรตติ้ง ตัวเรตติ้งนี้เป็นตัวปัญหาเลย เพราะไปกำหนดอยู่อย่างเดียว ก็คือจำนวนผู้ชม ตัวนี้เป็นปัญหาโลกแตกของบ้านเราซึ่งไม่หลุดไปไหน ในประเทศเกาหลีเรตติ้งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ดังนั้นก็อยู่ที่ความคิดของผู้จัด อยู่ที่เจ้าของสถานี-ดาราแล้วว่า จะออกแบบยังไงกับสังคมและอนาคตของพวกเรา"
เมื่อละครเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี หลายคนเสนอให้แบนละครเรื่องนี้ แต่ นายธามบอกว่า จริงๆ แล้วไม่อยากทำแบบนั้น ประเด็นก็คือว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระจากที่มันเป็นสีดำและสีขาวได้ "สิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงผู้จัดละครไทยในปัจจุบัน ก็คือลดความคาดหวังทางธุรกิจลงบ้าง แล้วก็เพิ่มความหลากหลายของประเภทละครที่เราควรจะมี อย่างอั้ม-พัชราภา นุ่น-วรนุช ก็มีความสามารถ แต่ทางช่องและผู้จัดก็ไปยัดเยียดให้เธอเล่นบททำร้ายสังคมอยู่ร่ำไป หรืออย่างกิ๊ปซี่ (วงเกิร์ลลี่ เบอร์รี่) นักร้องเซ็กซี่ คุณเป็นเอก รัตนเรือง ก็เอามาพลิกบทบาทเล่นหนังเรื่องนางไม้ ซึ่งก็ได้ราลวัลมากมาย ดังนั้นคิดใหม่ทำใหม่ อย่าทำร้ายสังคมและลูกหลานของเรา"
ขณะที่ "ครูยุ่น" นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ว่า ประเทศไทย แม้มีแต่ละครไม่สร้างสรรค์ ก็ขออย่างเดียวอย่าทำร้ายสังคมทางอ้อม
"ผมเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบูรณาการให้ประเทศไทยมีสื่อสีขาวซะที และแม้สื่อจะไม่มีสีขาวเพียวๆ แต่เราก็ไม่อยากให้มันดำสนิทโดยไม่มีสาระเจือปนเลยเหมือนอย่างทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่เรามีช่องทีวีสาธารณะแล้ว"