ประวัติ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรือ ขุนหลวงท้ายสระ บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา ผู้มีบทบาทสำคัญในละคร พรหมลิขิต
หลายคนอาจจะรู้จัก สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จากละคร พรหมลิขิต ละครฟอร์มยักษ์ภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ที่ได้สอดแทรกความรู้ทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเอาไว้มากมาย โดยในละคร พรหมลิขิต สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ รับบทโดย เกรท วรินทร ถือว่าโดดเด่นไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ดำเนินชีวิตเรียบง่ายอีกด้วย
ประวัติ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ต่อจากสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 25 ปี (พ.ศ. 2251-2275)
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) และสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) และเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม โดยประสูติตั้งแต่ พระเจ้าเสือ (พระราชบิดา) เป็นออกหลวงสรศักดิ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากที่พระเพทราชา (พระอัยกา) ทรงครองราชย์ และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้เจ้าฟ้าเพชรได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร โดยพระนาม พระเจ้าท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่ ที่ประทับซึ่งอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวังนั่นเอง
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมกัน 9 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 6 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ กรมหลวงราชานุรักษ์ เจ้าฟ้าหญิงเทพ, เจ้าฟ้าหญิงประทุม, เจ้าฟ้าชายนเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์, เจ้าฟ้าชายอภัย, เจ้าฟ้าชายปรเมศร์, เจ้าฟ้าชายทับ และประสูติกับพระสนม 3 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชายเสฏฐา, พระองค์เจ้าชายปริก และ พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง
เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
ออกพระราชกำหนดห้ามจับปลาตะเพียน โดยมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก จึงได้ออกพระราชกำหนดห้ามผู้ใดจับปลาตะเพียนไปบริโภค หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษปรับ 5 ตำลึง แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ถกเถียงกัน เพราะบางคนก็ตีความได้ว่าจริง ๆ แล้วพระองค์อาจจะเพียงแค่ต้องการอนุรักษ์ปลาสวยงามชนิดนี้เอาไว้
ไข้ทรพิษระบาด หรือฝีดาษ ได้ระบาดครั้งใหญ่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2255 กินระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เป็นช่วงข้าวยากหมากแพง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
ขุดคลองเป็นเส้นคมนาคม ได้แก่ คลองมหาไชย คลองเกร็ดน้อย และคลองลัดโพธิ์ เพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทาง
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สวรรคต
ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวร และเกิดขัดเคืองพระราชหฤทัยกับเจ้าฟ้าพร (พระอนุชา) จึงเวนราชสมบัติคืนและยกราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์โต เจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์เห็นว่าเจ้าฟ้าพรควรจะได้เป็นรัชทายาท จึงทรงผนวชเพื่อหนีปัญหาและไม่สึกออกมาอีกเลย พระเจ้าท้ายสระจึงมอบตำแหน่งรัชทายาทให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เจ้าฟ้าพรไม่พอพระทัย และเตรียมซ่องสุมกองกำลังไว้ ด้านเจ้าฟ้าอภัยก็สั่งให้เตรียมกำลังไว้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่พระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2275 เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ (พระอนุชา) จึงได้สู้รบกับเจ้าฟ้าพร (พระเจ้าอา) จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายชนะ และได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
พระเจ้าท้ายสระ ละคร พรหมลิขิต
พระเจ้าท้ายสระ ในละครพรหมลิขิต รับบทโดย เกรท วรินทร ปัญหกาญจน์ โดยเนื้อหาในละครเกี่ยวกับสมัยอยุธยาในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) ขึ้นครองราชย์ ซึ่งมีหมื่นมหาฤทธิ์ หรือพ่อริด รับบทโดย โป๊ป ธนวรรธน์ รับราชการในท้องพระคลังสินค้าและเป็นคนสนิทของ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และพุดตาน รับบทโดย เบลล่า ราณี ที่ทำงานเป็นนักจัดสวน แต่ได้ขุดเจอคัมภีร์กฤษณะกาลี จึงทำให้ไปโผล่ในสมัยอยุธยา และเจอหมื่นมหาฤทธิ์ที่ตกใจเมื่อพุดตานมีใบหน้าที่ละม้ายคุณแม่ของเขามาก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจะเป็นพรหมลิขิตที่ทำให้เขาและเธอได้กลับมาพบกันและจะไม่มีวันพรากจากกันอีกชั่วนิรันดร์ ติดตามชมได้ในละคร พรหมลิขิต ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์-พุธ เวลา 20.30 น. ทางช่อง 3
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับประวัติของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระที่นำมาฝากกัน ถ้าใครชอบละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์-โรแมนติก ลองติดตามชมกันต่อในละคร พรหมลิขิต ได้เลย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เรื่องย่อละคร พรหมลิขิต ภาคต่อของละครรักโรแมนติกอิงประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส
- เปิดผังความสัมพันธ์ตัวละครใน พรหมลิขิต ใครเป็นใครมาดูกัน
- ย้อนรู้จักตัวละครจาก บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิต ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
- เปิดประวัติ หลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์ผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย
- ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคทองของอยุธยา กับศิลปวัฒนธรรมที่เฟื่องฟู
- ประวัติ พระเจ้าองค์ดำ กับบทบาทสำคัญช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
- ประวัติ หลวงชิดภูบาล ลูกชายแม่มะลิ หนึ่งในมหาดเล็กใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
- ประวัติ โกษาธิบดีจีน เสนาบดีกรมพระคลัง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
- ประวัติ พระยาราชนุกูล (ทองคำ) คนสนิทพระเจ้าท้ายสระ บรรพบุรุษแห่งราชวงศ์จักรี
ขอบคุณข้อมูลจาก : ช่อง 3, กรมศิลปากร, kmutt.ac.th, jamaneepura.blogspot.com, เฟซบุ๊ก อยุธยา-Ayutthaya Station, เฟซบุ๊ก มาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา, เฟซบุ๊ก Broadcast Thai Television และ Instagram great_rider10