ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคทองของอยุธยา กับศิลปวัฒนธรรมที่เฟื่องฟู

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 อนุชาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทอง บ้านเมืองสงบสุข เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ไร้ศึกสงคราม
พระเจ้าบรมโกศ

          เรียกได้ว่า พรหมลิขิต ละครฟอร์มยักษ์ภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ได้สอดแทรกความรู้และแง่มุมของประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยาผ่านเนื้อเรื่องและตัวละครต่าง ๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ เจ้าฟ้าพร กษัตริย์สมัยอยุธยา องค์ที่ 31 พระอนุชาของ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ที่รับบทโดย อ้วน เด่นคุณ งามเนตร เพื่อให้อินกับละครกันให้มากขึ้น เราขอพาทุกคนไปทราบถึงประวัติของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กันค่ะ

ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระเจ้าบรมโกศ

ภาพจาก : Anirut Thailand / shutterstock.com

อนุสาวรีย์พระรูปจำลองสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 วัดหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ต่อจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พระเชษฐา) ทรงครองราชย์นาน 26 ปี (พ.ศ. 2275-2301) มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าพร เป็นพระราชโอรสพระองค์รองในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) กับสมเด็จพระพันวษา มีพระเชษฐา คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) และพระกนิษฐา คือเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม 
          ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เจ้าฟ้าพรได้รับการสถาปนาเป็นพระบัณฑูรน้อยใน ต่อมาได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ มีพระอัครมเหสี 3 องค์ ได้แก่ กรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี และ อินทสุชาเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดากว่า 100 องค์
พระเจ้าบรมโกศ

ที่มาของพระนาม บรมโกศ

พระเจ้าบรมโกศ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก หมากแข้ง

          จากข้อสันนิษฐานได้กล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเป็นพระนามเฉพาะที่เรียกกันภายหลังเสด็จสวรรคต เนื่องจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเป็นพระราชโอรสในขณะนั้น (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และเรียกขุนหลวงบรมโกศ ที่คาดว่ามาจากคำว่า พระเจ้าอยู่หัว (ในพระ) บรมโกศ ข้าราชการยุคนั้นจึงออกพระนามติดปากกันจนปัจจุบันหลายคนคิดว่าเป็นพระนามจริงไปแล้ว

เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระเจ้าบรมโกศ

สงครามแย่งราชสมบัติ
          เมื่อสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ได้พระราชทานราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่พระองค์ไม่ต้องการสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งสมควรได้สืบราชสมบัติมากกว่า พระเจ้าท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะนั้นซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชอยู่เกิดไม่พอพระทัย เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้วจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์
ฟื้นฟูพระศาสนา
          โดยส่งพระราชาคณะ 2 รูป คือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก 12 รูป ไปลังกา เพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกา
ยุคแห่งวรรณคดี
          ในช่วงสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถือเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีศึกสงคราม จนทำให้เกิดวรรณกรรมหลากหลายแขนง โดยพระองค์ทรงมีผลงานประพันธ์หลายเรื่อง เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ที่ได้ทรงประพันธ์ขึ้นเมื่อครั้งเสด็จตามสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ไปกำกับการปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว พ.ศ. 2269 ณ ตำหนักชีปะขาว เพื่ออำนวยการรื้อพระวิหารพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เมืองอ่างทอง, โคลงพาลีสอนน้อง, ทศรถสอนพระราม, โคลงราชสวัสดิ์, โคลงราชาณุวรรต, โคลงประดิษฐ์พระร่วง เป็นต้น รวมไปถึงพระโอรสองค์แรก คือ เจ้าฟ้ากุ้ง ได้นิพนธ์วรรณกรรมไว้มากมายเช่นเดียวกัน อาทิ กาพย์ห่อโคลงนิราศประพาสธารทองแดง เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น และยังเป็นยุคที่เกิดกวีเก่ง ๆ เป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สวรรคต

พระเจ้าบรมโกศ

          ปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ประมาณปี พ.ศ. 2301) ทรงพระประชวรหนัก จึงได้มอบราชสมบัติแก่พระราชวังบวร กรมขุนพรพินิต (พระโอรสองค์ที่ 2) ซึ่งก่อนขึ้นครองราชย์นั้นได้มีการสู้รบกันระหว่างพี่น้องภายในจนปราบได้สำเร็จ และขึ้นครองราชย์เป็นลำดับต่อไป พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี (พระเชษฐา) อยากขึ้นครองราชย์เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงสละราชบัลลังก์ให้หลังครองราชย์เพียง 2 เดือนเท่านั้น และเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชที่วัดประดู่ เจ้าฟ้าเอกทัศน์จึงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ พระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ละคร พรหมลิขิต

พระเจ้าบรมโกศ

          สำหรับบทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในละคร พรหมลิขิต รับบทโดย อ้วน เด่นคุณ งามเนตร เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (เกรท วรินทร ปัญหกาญจน์) ผู้จงรักภักดีต่อพระเชษฐา ไม่หวังบัลลังก์ แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ ซึ่งเป็นพระราชบิดา มอบราชบัลลังก์ให้สืบต่อ แต่พระองค์สละให้พระเชษฐา หรือ พระเจ้าท้ายสระ ในที่สุด
พระเจ้าบรมโกศ

          จบไปแล้วสำหรับประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคนี้เป็นยุคทองของวรรณคดีและศาสนาในสมัยอยุธยาเลยก็ว่าได้ ใครชอบละครอิงประวัติศาสตร์ก็อย่าลืมติดตามชม พรหมลิขิต กันนะคะ

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคทองของอยุธยา กับศิลปวัฒนธรรมที่เฟื่องฟู อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18:41:21 56,894 อ่าน
TOP
x close